พิษฝุ่นเชียงใหม่ เศร้าสูญเสียบุคลากร เผยรายชื่อ อาจารย์ มช. เสียชีวิต จากโรคมะเร็งปอด ผลกระทบ pm2.5 ส่งเสียงสะท้อนแก้ปัญหาจริงจัง-เร่งด่วน
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กลับมาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ หลังพบจุดความร้อนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับพื้นที่ จ.เชียงใหม่ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในวันนี้ 5 เม.ย.คุณภาพอากาศแย่อันดับ 1 ของโลก และตั้งแต่ เม.ย.นี้ พบว่า เชียงใหม่ มีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดในโลก 4 วันติดต่อกัน นอกจากนี้ยังติดท็อป 10 ของโลก ต่อเนื่องกัน 14 วัน ใน มี.ค.ที่ผ่านมา
- ย้อนฟัง หมอกฤตไท สะท้อนปัญหา ฝุ่นภาคเหนือ ตรงใจสุดๆ ไม่เห็นองค์กรไหนจริงจัง
- เชียงใหม่วิกฤตหนัก ฝุ่นพิษ ควันหนาทึบคลุมเมือง ขึ้นอันดับ 1 อากาศแย่ที่สุดในโลก
ด้วยสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลของ HDCservice กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566 พบว่าฝุ่นพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งสิ้น 2,648,243 คน
โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
จ.เชียงใหม่ 649,032 ราย
จ.เชียงราย 467,574 ราย
จ.ลำปาง 396,271 ราย
ส่วนโรคที่พบมากสุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563–2566 ใน 5 อันดับ ได้แก่
โรคผิวหนัง 721,613 ราย
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 499,259 ราย
โรคตาอักเสบ 445,755 ราย
อาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 398,229 ราย
หลอดเลือดสมอง 294,256 ราย
เศร้าสูญเสีย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังนำมาสู่ความสูญเสียของบุคลากรของ ม.เชียงใหม่ โดยเพจ Faculty of Architecture, Chiang Mai University โพสต์ข้อความไว้อาลัย ต่อการจากไปของ ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พิษฝุ่นเชียงใหม่ อาจารย์ มช. มะเร็งปอด คร่าชีวิต
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี สำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงประเด็นดังกล่าว ความว่า
“รายนามคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด
มีนาคม 2565 . รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กันยายน 2566 . รศ.ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และท่านเป็นอดีตคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ท่านริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก PM2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจาก สกว.
นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ
ธันวาคม 2566 .. นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมษายน 2567 .. ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร จึงจะแก้ปัญหาการเผาและ PM2.5 ????”
ด้านเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความระบุว่า “ในรอบ 10 ปีนี้ บุคลากร ม. เชียงใหม่ เป็นมะเร็งปอดตายไปกี่คนแล้วคะ”
อ.ปิ่นแก้ว ชี้วิกฤต จี้แก้ปัญหาจริงจัง
ขณะที่ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เชียงใหม่ ได้โพสต์ภาพได้รับผลกระทบจากฝุ่น ถึงขั้นเลือดออกทั้งปากและจมูกรอบสอง
โดย อ.ปิ่นแก้ว เขียนข้อความ ระบุว่า ดิฉันยังคงยืนยันว่า ปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่ปีนี้ ไม่ได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนๆอย่างที่รัฐบาลและจังหวัด พยายามชวนเชื่อ และหวังว่า NGOs ที่ทำงานเรื่องนี้ จะไม่บ้าจี้ตามรัฐบาลไปด้วย
จำนวนฮอตสปอตที่ลดลง ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่เพียงพอในการตัดสินสถานการณ์ฝุ่นในเชียงใหม่ สุขภาพต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ตราบใดที่คนยังเต็มรพ.และตัวเลขคนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจจาก pm 2.5 ยังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เราจะมาหลอกตัวเองโชว์นักท่องเที่ยวว่าเชียงใหม่เป็นเมืองสวยงาม ก็ออกจากโหดเหี้ยมเกินไปหน่อยกระมัง
ดิฉันอยู่เชียงใหม่มานานนับสิบปี ปีนี้เป็นปีแรกที่มีอันได้กระอักเลือด และดิฉันไม่ใช่คนเดียวที่เจอกับสภาพนี้ ไม่เชื่อ ว่างๆลองแวะไปสวนดอกดูบ้างเป็นไร จะได้รู้ว่ามันวิกฤตขนาดไหน
ซึ่งจากสถานการณ์ความรุนแรงต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ตามมาด้วยเสียงเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐ ให้ความสำคัญ และแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง และเร่งด่วน